เกษตรกรกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ถึงวันนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น เดือนเมษาหน้าร้อนปีนี้ มีพายุฝนเกิดต่อเนื่องส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ สำหรับการคาดหมายลักษณะอากาศประเทศไทยจากกรมอุตุนิยมวิทยาในเดือนพฤษภาคมซึ่งเริ่มต้นฤดูฝนนี้ ได้มีข้อควรระวัง คือจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งอาจทวีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชั่น และพายุไซโคลน มีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกหรือผ่านด้านตะวันตก ซึ่งทำให้ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรงขึ้น(https://www.tmd.go.th/monthly_forecast.php)และปรากฎการณ์ลานีญาที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องนั้น จะทำให้ในเดือนมิถุนายนเกิดฝนทิ้งช่วงโดยปริมาณฝนไม่ได้ตกเพิ่มขึ้นมากไปกว่าปกติ จนกลายเป็นความเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคและการทำเกษตร(https://www.prachachat.net/economy/news-646397) การติดตามพยากรณ์อากาศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เกษตรกรต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประเมินและวางแผนการทำเกษตรที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วง
หลายปีที่ผ่านมาในภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าอากาศในการเพาะปลูก ได้เผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อย จากความผันผวนของฝนที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฝนตกน้อยหรือไม่ก็ตกหนักกว่าปกติ อุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือฤดูหนาวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มเสียหายมากขึ้น ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ลดลง หนี้สินเกษตรกรเพิ่มพูนขึ้น ปัญหาความยากจนของเกษตรกรมีความรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า ชาวนาหลายครัวเรือนหว่านข้าวหลายรอบต่อฤดูกาล พืชติดดอกออกผลน้อยไม่ว่าไม้ผลหรือข้าวรวมไปถึงพืชหัว ในขณะที่โรคและแมลงศัตรูพืชระบาดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วม ภัยแล้งและพายุ
การปรับตัวของเกษตรกร
เป็นที่รับรู้กันว่าภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น เกษตรกรได้มีการปรับตัวเพื่อตั้งรับกับการแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนวันเพาะปลูกโดยการสังเกตฤดูกาลและเลือกวันที่เหมาะสม โดยเฉพาะการทำนาที่ชาวนาเริ่มเลื่อนวันทำนาจากเดิมไป แต่รอสังเกตฝนฟ้าในแต่ละปีก่อนถึงจะตัดสินใจหว่านข้าว เกษตรกรหลายครัวเรือนสังเกตและคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมถึงแม้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศแต่ยังคงให้ผลผลิตที่ดีถึงนำพันธุ์นั้นมาปลูกขยายต่อ หรืออาจเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยการเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อยกว่า รวมถึงการสร้างความหลากหลายพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในแปลงเกษตรเพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินและรักษาความชุ่มชื้นให้ดิน นอกเหนือจากการบริหารจัดการแปลงที่พึ่งพิงตนเองด้านพันธุ์ การจัดการดิน การสร้างระบบน้ำขนาดเล็กในแปลง
จึงกล่าวได้ว่า เกษตรกรสามารถริเริ่มการปรับตัวด้วยตัวของเกษตรกรเอง เพื่อรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญการปรับตัวที่เกิดขึ้นนั้น อาจไม่มีแนวทางหรือเทคนิคที่สามารถรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทุกสถานการณ์ การปรับตัวที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในระยะยาว
ที่สำคัญการเรียนรู้ประเมินความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง อาจเป็นเรื่องจำเป็นลำดับแรกของการปรับตัว ถ้าหากเกษตรกรเข้าใจปัญหาความเสี่ยงของตนจะทำให้สามารถเลือกแนวทาง หรือเทคนิคการปรับตัวที่เหมาะสมได้ การประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น สามารถทำได้โดย
- การสังเกตสภาพฝนฟ้าอากาศและฤดูกาลที่เกิดขึ้น ว่ามีความแปรปรวน หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนทิ้งช่วง ฝนตกหนัก อากาศร้อนมาก ฤดูหนาวสั้นลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเพาะปลูกมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
- การติดตามข่าวสารข้อมูลพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้เกษตรกรมีเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาและติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประเมินและวางแผนการเพาะปลูกที่จะเกิดขึ้น
- การจัดการเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การเลือกชนิดพืชที่เหมาะสม หรือการจัดการเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูก เปลี่ยนพันธุ์พืชที่เหมาะสม หากมีการพยากรณ์ว่าฝนแล้งก็เลือกพืชทนแล้ง รวมทั้งการจัดการดินให้มีวัสดุคลุมดินป้องกันแสงแดด และการปลูกพืชในพื้นที่หัวไร่ปลายนาเพิ่มขึ้น การจัดการแหล่งน้ำด้วยการขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนที่เพียงพอต่อการใช้ในการทำเกษตรตลอดปี
- การกระจายความเสี่ยง ซึ่งหมายถึงการสร้างความหลากหลายของกิจกรรมในแปลงเกษตร ทั้งเพื่อการบริโภคและการสร้างรายได้ รวมทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศในแปลงเกษตรให้เกิดสมดุล
อย่างไรแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่าปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ให้เที่ยงตรงเพื่อปรับตัวให้เหมาะสมได้ ดังนั้น ทางเลือกในการปรับตัวก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเกษตรโดยเชื่อมโยงทั้งการลดความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง เลือกใช้เทคนิคการปรับตัวที่หลากหลาย เพื่อสร้างความยืดหยุ่นต่อความแปรปรวนที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด ให้ความสำคัญการจัดการดินที่ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ด้วยอินทรีย์วัตถุ มีการจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอ การคัดเลือกพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เหมาะสม การสร้างความหลากหลายในแปลงเกษตรและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หัวไร่ปลายนาสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการสร้างภูมิป้องกันให้ระบบเกษตร การสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตรกร เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
Leave a Reply