การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: แนวทางสู่ระบบอาหารที่ยืดหยุ่นให้กับเกษตรกรรายย่อย กรณีพื้นที่แอฟริกา

         หลายประเทศ (โดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีกโลกใต้) ได้เผชิญกับวิกฤตความหิวโหยที่นับวันสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ดังเช่นแอฟริกาใต้ที่เผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่ได้ทำลายผลผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่ รวมถึงการระบาดของตั๊กแตนทะเลทรายที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเคนย่า เอธิโอเปีย โซมาเลีย อินเดีย และพื้นที่อื่นในแอฟริกา รวมถึงเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ที่ทำให้ประชากรกว่า 285 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วงปีที่ผ่านมา
         สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะวิกฤตภูมิอากาศที่ได้เข้ามาคุกคามพื้นที่อาหาร ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศที่ได้รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกลดลงถึง 30% ในปี 2593 ที่ทำให้ประชากรประมาณ 50 ล้านคนเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะชุมชนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ชุมชนเปราะบางที่ว่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และ 40% ของแรงงานทำการเกษตรเป็นผู้หญิงที่ถูกจำกัดการเข้าถึงสิทธิในที่ดินและข้อมูลการจัดการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (ซึ่งหากสถานภาพผู้หญิงถูกยอมรับในการเข้าถึงสิทธิในที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดการเกษตรเช่นเดียวกับผู้ชายก็จะทำให้ผลผลิตในฟาร์มโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20-30% และช่วยลดจำนวนประชากรที่หิวโหยจากการขาดแคลนอาหารในโลกได้ถึง 12-17%)
         จากรายงานของคณะกรรมาธิการโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น พบว่าได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ รวมถึงหน่วยงานพัฒนาและภาคเอกชนให้การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะเกษตรกรในกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรเพื่อยังชีพ และมีความเปราะบางมากขึ้นหากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทวีความรุนแรงที่แน่นอนว่าส่งผลกระทบตรงกับพื้นที่ในมิติความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแนวทางการรับมือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเชิงรุกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำไปใช้ในพื้นที่ได้มากที่สุด และเป็นแนวทางที่มีผลกระทบระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถึงการผลิตในระบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ความร้อน ความแห้งแล้ง และโรคพืชต่าง ๆ  ดังเช่นการนำเสนอแนวทางเบื้องต้นนี้ถือเป็นแนวทางที่ช่วยเกษตรกรรายย่อยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร โดยแนวทางดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นแนวทางการผลิตที่ได้ผลมากที่สุดจากการพัฒนาและวิจัยในช่วงที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้

1. ข้าวโพดพันธุ์ทนแล้ง

“ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนพึ่งพาข้าวโพดเป็นหลัก และข้าวโพดถือเป็นพืชที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”, ภาพ: Wes Hicks/Unsplash

         ข้าวโพดถือเป็นหนึ่งในพืชที่สำคัญในกลุ่มประเทศแอฟริกาเนื่องจากเป็นพืชหลักในการยังชีพของประชากรมากกว่า 300 ล้านคน และข้าวโพดถือเป็นพืชที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นอย่างมาก จากข้อมูลของศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ-the International Maize and Wheat Improvement Center) ได้รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้เกิดภาวะแล้งและมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดทั่วโลกลดลงถึง 30% ภายในปี 2573 จากการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนี้ทำให้ศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดฯ ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวโพดพันธุ์ทนแล้งขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร ซึ่งความสำเร็จของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดในแอฟริกานี้ได้เป็นแบบจำลองสำหรับการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่ยืดหยุ่นต่อภูมิอากาศในภูมิภาคอื่นที่เปราะบางและปรับปรุง/พัฒนาพันธุ์พืชอื่นที่ได้รับการวิจัยให้เพิ่มขึ้น เช่น พืชตระกูลถั่ว และมันฝรั่ง

2.ถั่วเลนทิลพันธุ์อายุสั้น

“ด้วยระบบการผลิตใหม่ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกถั่วเลนทิลหว่างรอบการปลูกข้าว ที่เอื้อให้เกษตรกรเข้าถึงสารอาหารและรายได้ให้กับครัวเรือน”, ภาพ:  Wikimedia Commons

         ถั่วเลนทิลเป็นพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินในการช่วยตรึงไนโตรเจนทำให้ดินอุดมสมบูรณ์แล้ว ถั่วเลนทิล (รวมถึงพืชตระกูลถั่วอื่น) ถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและแคลลอรี่ที่สำคัญโดยคิดเป็น 33% ของแหล่งโปรตีนที่ทั่วโลกนั้นบริโภค ดังนั้นการคงไว้ของแหล่งอาหารที่สำคัญและรายได้ของเกษตรกรนี้ ทางศูนย์วิจัยเพื่อการเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งระหว่างประเทศ (the International Center for Agricultural Research in the Dry Areas – ICARDA) ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วเลนทิลที่ให้ผลผลิตได้มากกว่าสองเท่าในเวลาไม่ถึงสามเดือน โดยเกษตรกรสามารถปลูกถั่วเลนทิลระหว่างรอบการปลูกข้าวได้อย่างต่อเนื่อง

3.การทำประมงที่ยั่งยืน

“จำนวนคนที่ทำงานเกี่ยวกับประมงนั้นถือเป็นหนึ่งในสิบของประชากรโลก และปลาถือเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับประชากรหลายพันล้านคน”, ภาพ: Tadue Jnr/Unsplash

         การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบในการทำประมง เช่น การระเหยของน้ำในสระช่วงฤดูแล้ง, คลื่นความร้อนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงทำให้ปลาตาย ฯลฯ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ปริมาณปลามีจำนวนลดลงและกระทบต่อกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ปลาถือเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนสำคัญที่เอื้อให้ประชากรกว่า 3.2 พันล้านคนได้เข้าถึง และเอื้อต่ออาชีพประมงที่ทำให้ให้เกิดการจ้างงานถึง 10% ของประชากรโลก จากความสำคัญของการทำประมงในมิติด้านอาหารและเศรษฐกิจดังกล่าว นักวิจัยมหาวิทยาลัยโตรอนโตได้พัฒนาต่อยอดเครื่องเติมอากาศในน้ำเพื่อช่วยลดอัตราการตายของสัตว์น้ำจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยเครื่องเติมอากาศนี้เป็นเครื่องที่ผลิตจากวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้จากท้องถิ่นและใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์แทนระบบการใช้ไฟฟ้า ที่คนในชุมชนสามารถผลิตและบำรุงรักษาได้ในราคาที่ประหยัด
         จากแนวทางข้างต้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนต้องพิจารณาถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ยืดหยุ่นต่อภูมิอากาศควบคู่ไปกับแนวทางที่หลากหลายในการทำให้มีความมั่นคงทางอาหารผ่านการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้นวัตกรรมความรู้/เทคโนโลยีในการสร้างขีดความสามารถให้กับเกษตรกรในการรับมือ/ปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในแอฟริกาที่การวิจัยและพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในช่วงวิกฤตของภูมิอากาศ

ข้อมูล: https://www.wri.org/insights/3-climate-resilient-food-solutions-smallholder-farmers