เวทีสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวของภาคเกษตร ภาคเหนือ” การปรับตัวในการปลูกกาแฟ และระบบไม้ผลเมืองหนาว

คุณสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล บ้านเลาวู ต.บ้านแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

 หลักการจัดการแปลงการผลิต

            แปลงผลิตของสราวุฒิ ถือเป็นตัวอย่างของคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ในชื่อฟาร์ม “AKIPU” ซึ่งเป็นภาษาลีซู โดยแบ่งพื้นที่ 20 ไร่ (ดังภาพ 1) ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย แปลงไม้ผล เช่น มะขามป้อม อโวคาโด ลูกพลับ พืชล้มลุก เช่น พืชผัก สตรอเบอร์รี่ ฯลฯ พื้นที่ปลูกป่าเพื่อเตรียมการปลูกกาแฟซึ่งเป็นพืชที่ต้องการร่มเงา และพื้นที่อยู่อาศัย แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้ได้เคยปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด แต่สุดท้ายมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตและการจัดการตลาดที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง  เริ่มต้นได้ตัดสินใจเลือกทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน โดยปรับพื้นที่บางส่วนปลูกสตรอเบอร์รี่ แต่ก็เจอกับปัญหาการกัดกินของนกและหนู ทำให้ได้ผลผลิตเพียง 50 % เช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ปลูกไม้ผลแล้วต้องเผชิญกับผลผลิตที่ล้นตลาดทำให้ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรหลายรายปรับตัวมาปลูกกะหล่ำปลี หรือข้าวโพด แต่ยังคงเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ยังคงอยู่ในวงจรเดิม คือ ความเสี่ยงเรื่องการผลิตและการตลาด

            จากสถานการณ์ดังกล่าว ชุมชนได้ร่วมกันวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น และได้จึงตัดสินใจปรับระบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มุ่งสู่ความหลากหลายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับสราวุฒิ ได้มีการจัดโซนพื้นที่ปลูกพืช ดังกล่าวข้างต้น และร่วมจัดตั้งกลุ่มโดยนำร่องกับเครือญาติใช้ชื่อว่า “วิสาหกิจเกษตรธรรมชาติลีซู” เพื่อจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพผ่านการผลิตอินทรีย์ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าผลผลิตผ่านการแปรรูป ควบคู่กับการทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชน

ภาพ 1 การแบ่งโซนพื้นที่การผลิตในพื้นที่ 20 ไร่

ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่การผลิต

            ความแปรปรวนของสภาพอากาศได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแปลงที่ขาดความสมดุล เนื่องจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ไม้ผลออกดอกเร็วกว่าปกติ ชุมชนได้แก้ปัญหาโดยการนำไม้พื้นถิ่นมาปลูก เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ที่สามารถเติบโตได้ดี ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400-1,600 เมตร และกาแฟพันธุ์อราบิก้า จึงเป็นหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาปลูกเสริมในพื้นที่ได้ แต่เกษตรกรต้องพบกับปัญหาการระบาดของมอด และโรคแมลงชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่ผลผลิตลดลงถึง 30-40% จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเลือกการผลิตกาแฟที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณผลผลิตที่สัมพันธ์กับการแบ่งโซนพื้นที่ เพื่อปลูกพืชที่หลากหลาย เชื่อมโยงกับการแปรรูปและการจัดการ

            ในการจัดการแปลงผลิตด้วยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ถือเป็นหนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน หากหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและสนับสนุนให้พื้นที่มีการปลูกป่าและให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ย่อมจะส่งผลดีกับชุมชนในมิติด้านการลดต้นทุน มิติความมั่นคงทางอาหาร มิติการฟื้นฟูระบบนิเวศ และมิติด้านการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้จริง

เพิ่มมูลค่าการผลิตกาแฟ

            การปลูกกาแฟ ชุมชนได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้พัฒนาแบรนด์กาแฟที่ใช้ชื่อว่า “เลาวูคอฟฟี่” (Laowu coffee) ซึ่งเป็นการรวบรวมเมล็ดกาแฟของคนในชุมชนมาจำหน่ายทั้งโดยตรงและ สำหรับอีกแบรนด์ซึ่งคัดสรรเมล็ดกาแฟจากแปลงการผลิตที่ทำในระบบเกษตรอินทรีย์โดยใช้ชื่อว่า “AKIPU Coffee” โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแบรนด์กาแฟนี้ ให้คนทั่วไปรู้จักถึงเรื่องราวการผลิตในเชิงอนุรักษ์ การแปรรูปกาแฟถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ และตั้งราคาขายตามลักษณะการแปรรูป คือ  washed process ราคา 700 บาท/กก. honey process ราคา 900 บาท/กก. และ dry process ราคา 1,000 บาท/กก.

ทำฟาร์มสเตย์

            การทำฟาร์มสเตย์ หรือการทำแคมป์ปิ้งที่เป็นบรรยากาศ พักและนอนในสวนถือเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ โดยการปรับหรือเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในช่วงที่รายได้จากการเกษตรที่ไม่แน่นอน หรือมีความเสี่ยงด้านการผลิตจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะเป็นผลพลอยได้ที่นอกจากมาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติแล้ว จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายผลผลิตในชุมชนได้เช่นกัน

ที่มาภาพหน้าปก : FB Akipu Coffee