การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการปรับตัวในนิเวศที่ราบ และที่ราบลุ่ม

คุณเกียรติพงศ์ ลังกาพินธุ์ บ้านป่าตึงงาม ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง ลำพูน

      เกียรติพงศ์ ได้ตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูเพื่อมาอยู่กับแม่ที่บ้านป่าตึงงามเกือบ 10 ปีแล้ว ช่วงแรกมาช่วยเลี้ยงไก่เนื้อในระบบเกษตรพันธะสัญญา พบว่ากระบวนการเลี้ยงและสัญญาที่ทำขึ้นกับบริษัทค่อนข้างเอาเปรียบเกษตรกร ประกอบกับการทำเกษตรต้องพึ่งพาสารเคมี ซึ่งมีผลกระทบด้านสุขภาพและเกิดภาระหนี้สิน จึงอยากปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เพราะเชื่อว่าเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ได้อยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดี และลดการเป็นหนี้สิน ถึงวันนี้การทำเกษตรอินทรีย์ของเกียรติพงศ์ เป็นแบบอย่างของการอยู่รอดภายใต้วิกฤตต่างๆ โดยมีตัวอย่างการจัดการแปลงไม่การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ การทำนา ทำสวนไม้ผล รวมไปถึงการปรับปรุงดินและจัดการแหล่งน้ำ ดังนี้

      1.การผลิตเชื้อราขาว หรือจุลินทรีย์ท้องถิ่น โดยเอาดินจากโคนต้นไผ่ที่มีราสีขาว หรือเอาข้าวหุงสุกใส่กะบะไม้ แล้วห่อด้วยกระดาษบรู๊ฟนำไปวางใต้ต้นไผ่ แล้วคลุมด้วยตาข่ายหรือสุ่มไก่ เพื่อป้องกันสัตว์เข้าไปกิน ทิ้งไว้ 4-5 วัน จะมีราขาวขึ้นเอาน้ำตาลทรายแดงไปใส่เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ใช้มือขยำคลุกเคล้าผสมกันให้ทั่ว นำไปใส่ขวดโหลเก็บไว้ในที่ร่มอีก 4-5 วัน ได้หัวเชื้อที่สามารถนำไปผสมน้ำ รดพื้นคอกเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยย่อยสลายของวัสดุให้กลายเป็นปุ๋ยหมักเร็วขึ้น ป้องกันน้ำเสียและกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ หรือผสมในอาหารและน้ำให้สัตว์ดื่มกิน หรือนำไปเร่งการย่อยสลายของกองปุ๋ยหมักได้ด้วย ดังภาพที่ 1

      2.น้ำหมักจุลินทรีย์ เกียรติพงศ์ได้ทำน้ำหมักต่างๆ ที่เน้นเอาวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาทำ เช่น 1) พืชสีเขียว พืชสมุนไพร หรือผลไม้สุกหมักกับแลกโตบาซิลลัสหรือนมเปรี้ยว สำหรับสร้างเนื้อแดงและช่วยย่อยอาหารในการเลี้ยงสัตว์ ใช้รดรอบโคนต้นพืชเพื่อรากดูดซึมอาหารได้ง่าย 2) เปลือกไข่หมักกับน้ำซาวข้าว โดยใช้เปลือกไข่ตากแห้งแล้วตำให้ละเอียด นำไปใส่ขวดโหลที่มีน้ำซาวข้าว ปิดฝาขวดด้วยกระดาษบรุ๊ฟมัดด้วยเชือก หมักทิ้งไว้ 8-12 วัน นำน้ำที่หมักผสมน้ำใช้รดพืชผักเพื่อการเจริญเติบโต กิ่งก้านแข็งแรง ขั้วไม้ผลเหนียว 3) นำกระดูกสัตว์ที่เผาแล้วหมักกับน้ำซาวข้าว ใช้วิธีการเดียวกับการหมักด้วยเปลือกไข่ นำไปผสมน้ำให้สัตว์กินเพื่อสีผิว ขนจะได้สวยงาม ใช้พ่นตาดอกไม้ผลเพื่อให้ไม้ผลงอกงามดี 4) นำขี้ปลาหมักกับน้ำตาลทรายแดงทิ้งไว้ 15 วันแล้วนำไปผสมน้ำให้สัตว์กินทำให้เจริญเติบโตแข็งแรงดี เอาพ่นต้นลำไยช่วงออกช่อใหม่ หรือหลังตัดแต่งกิ่งทำให้ใบเขียว 5) การนำน้ำหมักชนิดที่ 1ถึง 3 มาผสมกันสามารถนำให้สัตว์กินแทนการทำวัคซีนได้ และเอารดพืชผักทำให้พืชแข็งแรง

      3.การเลี้ยงหมูหลุม เกียรติพงศ์เลือกเลี้ยงหมูหลุม เพื่อจะได้ทั้งเนื้อหมูและปุ๋ยหมักในคอกสำหรับปลูกพืชผัก ภาพที่ 2 วัสดุทำหมูหลุม ประกอบด้วย แกลบหยาบหรือใบไม้แห้ง ดินแดง ถ่านละเอียด 50 กิโลกรัม เกลือทะเล 1 กิโลกรัม ขี้วัวแห้ง หัวเชื้อราขาว ผสมคลุกเคล้ากับน้ำหมักชนิดต่างๆ ที่ผสมน้ำตาลทรายแดง และชั้นบนสุดคลุมด้วยแกลบหยาบ หรือฟางข้าว การใส่เชื้อราขาวและน้ำหมักทำให้คอกไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนวัสดุอื่นๆ นั้นมีส่วนประกอบของธาตุอาหารที่เป็นความต้องการของพืช ซึ่งมีประโยชน์ตามภาพ 3

      การเลี้ยงหมู 1 ตัว เมื่อเลี้ยงได้ 4 เดือน สามารถขายได้กำไรตัวละประมาณ 1,000 บาท และได้ปุ๋ยหมักเดือนละ 100 กระสอบๆ ละ 40 บาท คิดเป็นเงิน 4,000 บาท เกียรติพงศ์เลือกเลี้ยงหมูดำเหมยซานเพราะเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนโรคไม่ต้องฉีดวัคซีน และเป็นที่นิยมบริโภคของคนในชุมชน เกียรติพงศ์ มีหลุมสำหรับเลี้ยงหมู 4 หลุม โดยปล่อยเลี้ยงเดือนละหลุมหมุนเวียนไป เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง
      4.การเลี้ยงไก่หลุม การเลี้ยงไก่ไข่ของเกียรติพงศ์ ได้ใช้วิธีการทำคอกคล้ายกับการเลี้ยงหมูหลุม ที่ใช้วัสดุรองก้นหลุมสูตรเดียวกัน ปัจจุบันเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 40 ตัว โดยเลือกไก่สาวพร้อมที่จะไข่เอามาเลี้ยง ไข่ที่ได้เฉลี่ยวันละ 30 ฟอง ขายฟองละ 4 บาท เป็นเงิน 120 บาท หักต้นทุนวันละ 60 บาท จึงมีกำไรวันละ 60 บาท
      5.การจัดการแปลงผัก ก่อนการปลูกจะสังเกตความนิยมบริโภคพืชผักของคนในชุมชนว่าชอบบริโภคพืชผักประเภทใด แล้วถึงเลือกผักชนิดนั้นมาปลูก เช่น ถั่วฝักยาว ผักกูด ผักโขมบ้าน ฯลฯ การทำแปลงนั้นได้เอาปุ๋ยคอกจากการเลี้ยงหมูและไก่มาใส่ ซึ่งทำให้ได้ผักเติบโตและรสชาติดี
      6. การจัดการน้ำ ด้วยสภาพพื้นที่บ้านทุ่งหัวช้างมีลักษณะเป็นที่สูง จึงต้องมีการจัดการน้ำสำหรับรดน้ำแปลงผักในช่วงฤดูแล้ง โดยวางระบบน้ำหยดเพื่อไม่ให้น้ำกระจายเหมือนการใช้สปริงเกอร์ ที่ ดังภาพที่ 4 และไม่ต้องยกแปลงสูงเพียงแต่พรวนหลุมที่จะหยอดเมล็ด ผักที่ปลูกในแต่ละรอบจะเป็นรายได้ประจำสัปดาห์ แต่ต้องวางแผนการปลูกผักชนิดที่มีอายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน เพื่อให้มีผลผลิตได้ตลอด สำหรับรายได้จากผักในเนื้อที่ 3 งานให้ผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยขายผักได้ 30 บาทต่อกิโลกรัม ที่สำคัญเกียรติพงศ์เลือกผักพื้นบ้านที่สอดคล้องกับฤดูกาลปลูก แล้วจำหน่ายตรงให้กับผู้บริโภคทั้งในตลาดชุมชนและตลาดในเมือง

      7.การทำนา พื้นที่ทำนามี 3 ไร่ โดยทำนาโยนเพราะใช้ต้นทุนและแรงงานน้อย แต่ให้ผลผลิตดี โดยผสมดินร่วนที่ร่อนดีแล้ว 13 กิโลกรัมผสมกับเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม นำไปเทลงถาดเพาะ ซึ่งจะมีเมล็ดข้าวเฉลี่ย 3-7 เมล็ดต่อหลุม จากนั้นปรับดินที่จะวางถาดเพาะกล้าให้เรียบ นำถาดเพาะไปวางคลุมสะแลนตามภาพ 5 ทั้งนี้เกียรติพงศ์รับจ้างเพาะกล้าให้กับชาวบ้านโดยคิดเงิน 10 บาทต่อถาด ภาพ 6 โดยชาวบ้านเอาพันธุ์ข้าวมาให้ ซึ่งใช้เวลาเพาะ 15 วันก็สามารถนำกล้าไปโยนในแปลงนาได้

      แปลงสำหรับโยนข้าวต้องปรับให้เรียบ และเอาน้ำออกให้เป็นโคลน หลังจากโยนข้าวได้ 5-8 วันให้เอาน้ำเข้าเพื่อคลุมหญ้า เกียรติพงศ์เลือกใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เช่น หอมทุ่งหัวช้าง ที่มีลักษณะเมล็ดยาว นุ่ม หอม ลำต้นแข็งแรงล้มยาก ทนโรคใบไหม้ ทนแล้ง เติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี เป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง มีอายุข้าว 120 วัน รสชาติเหมือน กข.6 ปลูกง่ายเหมือนข้าวสันป่าตอง1 และมีสายพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ มีลักษณะหอมนุ่ม มีสารต้านมะเร็ง ป้องกันเบาหวาน ต้นเตี้ย แตกกอดี ทนโรคไหม้ ไม่ไวแสงและราคาสูง ซึ่งได้พันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แล้วนำมาคัดพันธุ์ต่ออีกหลายปีเนื่องจากมีข้าวปนและกลายพันธุ์ ซึ่งเกียรติพงศ์ได้แบ่งพื้นที่สำหรับเป็นแปลงคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อสามารถจัดเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง ในการเก็บเกี่ยวได้ใช้เครื่องตัดหญ้าที่มีหัวเกี่ยวดัดแปลงมาสามารถตัดข้าวคนเดียวได้ถึง 3-4 ไร่ ใช้น้ำมันเพียง 1 ลิตร ภาพ 7 เครื่องมือตีข้าวนำมาต่อกับเครื่องสูบน้ำเก่า ภาพ 8 การสีข้าวก็นำไปสีข้าวที่โรงสีข้าวอินทรีย์ของชุมชน

      8.สตรอเบอร์รี่อินทรีย์ เทคนิคสำคัญ คือต้องเด็ดใบด้านล่างออกสัปดาห์ละครั้งเพื่อให้ออกดอกและไม่มีแมลงระบาด เนื่องจา      ตาดอกอยู่ที่โคน และเป็นที่อยู่อาศัยของหนอนกับศัตรูพืช ปี 2564 เกียรติพงศ์ปลูกสตรอเบอร์รี่ประมาณ 3,000 ต้น เพื่อสามารถจัดการและได้สตรอเบอร์รี่อินทรีย์แบบคุณภาพ ซึ่งได้ผลผลิตที่คัดจำหน่ายประมาณ 200 กิโลกรัม นำไปจำหน่ายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 200-400 บาท คิดเป็นรายได้ 40,000 บาท หักต้นทุนซึ่งเป็นค่าพลาสติกคลุมแปลง ค่ากล้าพันธุ์ ค่าระบบน้ำหยด ประมาณ 10,000 บาท จึงมีได้รายได้สุทธิ 30,000 บาทต่อรอบการผลิต
      9.การจัดการลำไย มีการจัดการตัดแต่กิ่งที่เรียกว่า ฝาชีหงาย เป็นความรู้ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แนะนำมา เกียรติพงศ์มีพื้นที่ปลูก      ลำไย 3 ไร่ โดยปลูกระยะห่างระหว่างต้น 4×4 เมตร จำนวน 100 ต้น การตัดแต่งกิ่งทรงฝาชีหงายจะได้ต้นเตี้ยสูงไม่เกิน 2 เมตร ไม่มีปัญหาต้นล้ม เก็บเกี่ยวง่าย ขนาดลูกลำไยใหญ่ได้ราคาดี ต้นทุนการจัดการต่ำ เพราะไม่ต้องจ้างแรงงานในการจัดการแปลงและไม่ต้องซื้อไม้ค้ำต้น และต้องตัดช่อดอกออกไม่ให้เกิน 30 ลูกต่อพวง ปัจจุบันจำหน่ายลำไยสดผ่านออนไลน์เป็นหลักในราคา 40-60 บาทต่อกิโลกรัม ควบคู่กับการขายในพื้นที่ รายได้จากลำไยที่เน้นขนาด AA ปลูก 100 ต้น สลับให้ออกผลผลิตปีละ 50 ต้น ผลผลิต 2,000 กิโลกรัมต่อปี ราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีรายได้ราว 50,000 บาท หักต้นทุน 10,000 บาท รายได้สุทธิ 40,000 บาทต่อปี

 ผลตอบแทนจากเกษตรอินทรีย์
      เกียรติพงศ์มีการทำบัญชีครัวเรือน จึงทำให้ทราบได้รายและรายจ่ายที่เกิดขึ้น โดยรายได้ในปี 2564 จำนวน 281,600 บาท โดยมาจากรายได้ที่เป็นรายวันจากการขายไข่ไก่ 21,600 บาท รายได้สัปดาห์จากผักอินทรีย์จำนวน 120,000 บาท รายได้รายเดือนจากการขายหมู 12,000 บาทและขายปุ๋ยหมัก 60,000 บาทและมีรายได้รายปีจากการรับจ้างเพาะกล้าข้าว 10,000 บาท สตรอเบอร์รี่ 30,000 บาทและลำไย 40,000 บาท
      และการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ชีวิตได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว สามารถเป็นเจ้านายตัวเองในการวางแผนจัดการและตัดสินใจที่จะเลือกและกำหนดการใช้ชีวิต มีเวลาร่วมกิจกรรมกับเยาวชนในชุมชน แบ่งปันความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับคนที่สนใจ ที่สำคัญชุมชนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ สด ใหม่จากแปลงเกษตรอินทรีย์ อย่างสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ตลาดในชุมชนหรือใกล้เคียงปิดตัวลง แปลงผักของเกียรติพงศ์ ได้เป็นแหล่งอาหารให้กับคนในชุมชน